นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
ดาวน์โหลด
PDF 410.41 KB

บริษัทฯ ได้ทบทวนนโยบายในการกำกับดูแลกิจการที่ดีทุกปี สำหรับปี 2565 คณะกรรมการได้พิจารณาและทบทวนนโยบายดังกล่าว ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ณ ปัจจุบัน ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ สามารถเข้าไปศึกษา นโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ได้ที่ https://investor.qtc-energy.com/th/corporate-governance/corporate-governance-policy และ จรรยาบรรณธุรกิจ ได้ที่ https://investor.qtc-energy.com/th/corporate-governance/cg-report-and-download

บริษัทฯ มีนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นและแนวทางการปฏิบัติ เป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่เรียก ไม่รับ ไม่จ่าย และไม่ทำธุรกิจกับบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่น ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว และได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัทที่ https://investor.qtc-energy.com/th/corporate-governance/cg-report-and-download

บริษัทได้เข้าร่วม โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ( Thai Private Sector Collective Action Against Corruption : CAC) และได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC) ด้วย

บริษัทมีแนวปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการดังนี้

หมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น (The Rights of Shareholders)

บริษัทฯ ตระหนักและให้ความสำคัญในสิทธิพื้นฐานต่างๆ ของผู้ถือหุ้น รวมถึงผู้ถือหุ้นประเภทสถาบัน ได้แก่ สิทธิการซื้อขายหรือโอนหุ้น สิทธิในการที่จะได้รับส่วนแบ่งกำไรของกิจการ สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารของกิจการอย่างเพียงพอ สิทธิในการเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และเรื่องที่มีผลกระทบต่อบริษัทฯ เช่น การจัดสรรเงินปันผล การกำหนดหรือการแก้ไขข้อบังคับและหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ การลดทุนหรือเพิ่มทุน เป็นต้น

นอกเหนือจากสิทธิพื้นฐานต่างๆ ข้างต้นแล้ว บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น ดังนี้

  • จัดส่งหนังสือนัดประชุมให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมอย่างน้อย 22 วัน โดยส่งหนังสือเชิญประชุม ให้แก่ผู้ถือหุ้นวันที่ 10 มีนาคม 2565 โดยจะระบุวัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการประชุม ขั้นตอนการออกเสียงลงมติ ตลอดจนข้อมูลประกอบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจในที่ประชุมอย่างครบถ้วน รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไว้ใน Website ของบริษัททั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ 31 วัน ลง Website วันที่ 1 มีนาคม 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาศึกษาข้อมูลประกอบการประชุมล่วงหน้าเพียงพอก่อนได้รับข้อมูลในรูปแบบเอกสารจากบริษัท
  • บริษัทฯ ได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับระเบียบวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี เพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนี้
    วาระที่ 1 พิจารณารับทราบรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น
    วาระที่ 2 พิจารณารับทราบผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา
    วาระที่ 3 พิจารณาและอนุมัติงบการเงินของบริษัทสำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ 31 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา
    วาระที่ 4 พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมา
    วาระที่ 5 พิจารณาเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ
    วาระที่ 6 พิจารณาอนุมัติจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ
    วาระที่ 7 พิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และกำหนดค่าตอบแทนการสอบบัญชีประจำปี
    วาระที่ 8 เรื่องอื่นๆ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามประเด็นสำคัญต่างๆ

  • ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ บริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระหรือ บุคคลใดๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้ โดยใช้หนังสือมอบฉันทะแบบ ก แบบ ข หรือแบบ ค แบบหนึ่งแบบใดที่บริษัทฯ ได้จัดส่งไปพร้อมหนังสือนัดประชุม
  • เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่งคำถามที่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุมผู้ถือหุ้น ถึงคณะกรรมการบริษัทฯ ล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น เป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 31 วัน ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ หรือทาง อีเมล์ของนักลงทุนสัมพันธ์ โดยแจ้งผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565
  • เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ซักถาม แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ได้อย่างเต็มที่และอิสระ ซึ่งรายละเอียดได้มีการบันทึกไว้ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น
  • บริษัทฯ อำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิในการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงอย่างเต็มที่ โดยบริษัทจะจัดประชุมในวันทำการที่โรงแรมซึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีการคมนาคมที่สะดวกต่อการเดินทางมาร่วมประชุมของผู้ถือหุ้น โดยที่ผ่านมาจัดประชุมที่โรงแรมที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และจัดเตรียมอากรแสตมป์สำหรับผู้ถือหุ้นที่รับมอบฉันทะ
  • กรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ทุกคน เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นโดยพร้อมเพรียง และร่วมตอบข้อซักถามต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  • เมื่อการประชุมแล้วเสร็จ บริษัทฯ เผยแพร่ผลการลงคะแนนของแต่ละวาระในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นหลังประชุมเสร็จ คือวันที่ 1 เมษายน 2565 แจ้งผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบน website ของบริษัทฯ และจัดทำรายงานการประชุมโดยแสดงข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ ภายใน 14 วัน นับจากวันประชุม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้ โดยปี 2565 ลงเว็บไซต์เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565
  • บริษัทฯ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งการลงทะเบียนผู้ถือหุ้น การนับคะแนนและแสดงผล เพื่อให้การดำเนินการประชุมสามารถกระทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ

บริษัทฯ มีนโยบายในการปฏิบัติและคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่ไม่เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยหรือผู้ถือหุ้นต่างชาติ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นสถาบัน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิต่างๆ ขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน

  • บริษัทฯ เปิดโอกาสให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง สามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระหรือบุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมและออกเสียงแทนผู้ถือหุ้นได้
  • เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระ และเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการในการประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้า ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด ซึ่งได้เผยแพร่รายละเอียดในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่ http://www.qtc-energy.com โดยให้เสนอมายังบริษัทฯ ล่วงหน้า 92 วันก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2565
  • ปี 2565 บริษัทฯ ไม่มีการเพิ่มวาระการประชุมที่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะวาระที่มีความสำคัญที่ผู้ถือหุ้นต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ
  • คณะกรรมการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิ์ในการแต่งตั้งกรรมการเป็นรายคน และสนับสนุนให้มีการใช้บัตรลงคะแนนเสียง เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้
  • คณะกรรมการบริษัทฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในโดยมิชอบ (Insider Trading) ของบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึง กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง รวมตลอดถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลรวมถึงได้กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทฯ หรือนำข้อมูลของบริษัทฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนไว้แล้วตามนโยบายการป้องกันการนำข้อมูลภายในไปใช้ประโยชน์
  • การให้ความรู้แก่กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ เกี่ยวกับภาระหน้าที่ในการรายงานการถือครองหลักทรัพย์ในบริษัทฯ ของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียและปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • พนักงาน : บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของพนักงานทุกคนในบริษัทฯ ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพและความรู้ความสามารถ และทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพิจารณาให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมตามความรู้ความสามารถของพนักงานแต่ละคน ตลอดจนการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ถือปฏิบัติต่อพนักงานทุกรายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
  • คู่ค้าและเจ้าหนี้ : บริษัทฯ ได้ปฏิบัติต่อคู่ค้าทั้งที่เป็น Supplier และเจ้าหนี้ทางการเงินอย่างเป็นธรรม เสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการค้า และ/หรือข้อตกลงตามสัญญาที่ทำร่วมกันอย่างเคร่งครัด เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ บริษัทได้จัดทำจรรยาบรรณและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าของ QTC เพื่อให้คู่ค้าปฏิบัติตาม บริษัทฯ ได้ส่งมอบคู่มือการปฏิบัติสำหรับคู่ค้าทุกราย พร้อมทั้งเผยแพร่บน เว็บไซต์ของบริษัท ที่ https://investor.qtc-energy.com/th/corporate-governance/cg-report-and-download
  • ลูกค้า : บริษัทฯ เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อลูกค้าโดยเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน การรักษาความลับของลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อการกำหนดราคาขายสินค้าที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้าอย่างเท่าเทียมกัน
  • คู่แข่ง : บริษัทฯ ประพฤติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดีและกฎหมายที่กำหนดไว้ รักษาบรรทัดฐานของข้อพึงปฏิบัติในการแข่งขัน และหลีกเลี่ยงวิธีการไม่สุจริตเพื่อทำลายคู่แข่ง
  • ชุมชนและสังคม : บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ บริษัทฯ เน้นการปลูกฝังจิตสำนึก ความรับผิดชอบและพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชนและสังคมให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และไม่กระทำการใดๆ ที่ขัดหรือผิดกฎหมาย
  • บริษัทฯ มีมาตรการชดเชยในกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเสียหายจากการที่บริษัทฯละเมิดสิทธิตามกฎหมายของผู้มีส่วนได้เสีย ไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท
  • บริษัทฯ ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่รับทราบข้อมูลภายในที่มีนัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ จะต้องระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในช่วง 1 เดือนก่อนที่บริษัทฯ จะมีการประกาศผลการดำเนินงาน หรือข้อมูลภายในนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชน
  • บริษัทฯ มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนกรณีมีผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมาย ความถูกต้องของรายงานทางการเงิน ระบบควบคุมภายในบกพร่อง หรือการผิดจรรยาบรรณ โดยสามารถแจ้งผ่านช่องทางจดหมาย และอีเมล์ถึงคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท บริษัทฯ ได้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้แจ้งเบาะแสไว้แล้ว
  • เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงได้กำหนดคู่มือ จริยธรรมฯ เป็นวินัยอย่างหนึ่ง ซึ่งกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามถือเป็นการทำผิดวินัย ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล
  • กำหนดนโยบายเกี่ยวกับความขัดแย้งของผลประโยชน์ไว้ในคู่มือจริยธรรมฯ เพื่อป้องกันการใช้โอกาสแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใส ทั้งรายงานข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทั่วไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนข้อมูลที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ทั้งหมดได้รับทราบข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศของบริษัทฯ ต่อผู้ถือหุ้น และสาธารณชนผ่านช่องทางและสื่อการเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ และเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่ www.qtc-energy.com

คณะกรรมการบริษัทฯ ตระหนักถึงความรับผิดชอบและมุ่งมั่นที่จะดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • บริษัทฯ เผยแพร่ข้อมูลตามเกณฑ์ที่กำหนด ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบแสดงรายงาน 56-1 One Report พร้อมทั้งมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านทาง เว็บไซต์ของบริษัทฯ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีการดูแลปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ
  • คณะกรรมการรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายกำกับดูแลกิจการผ่านทางแบบแสดงแบบรายงาน 56-1 One Report และเว็บไซต์ของบริษัท
  • คณะกรรมการจัดให้มีรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ต่อรายงานทางการเงินแสดงควบคู่ไปกับรายงานของผู้สอบบัญชี และจัดให้มีรายงานการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการตรวจสอบในรายงานประจำปี (แบบแสดงรายงาน 56-1 One Report)
  • คณะกรรมการมีการเปิดเผยรายชื่อ บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อย จำนวนครั้งของการประชุมและจำนวนครั้งที่กรรมการแต่ละท่านเข้าร่วมประชุมในแต่ละปีผ่านทางแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบแสดงรายงาน 56-1 One Report)
  • บริษัทฯ ได้กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบแสดงรายงาน 56-1 One Report) เพื่อให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลดังหัวข้อต่อไปนี้ ส่วนที่ 1 ประกอบด้วย (1) โครงสร้างและการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท (2) การบริหารความเสี่ยง (3) การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (4) การวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ (5) ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลสำคัญอื่น ส่วนที่ 2 ประกอบด้วย (6) นโยบายการกำกับดูแลกิจการ (7) โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย ผู้บริหาร พนักงานและอื่น ๆ (8) รายงานผลการดำเนินงานสำคัญด้านการกำกับดูแลกิจการ (9) การควบคุมภายในและรายการระหว่างกัน ส่วนที่ 3 รายงานทางการเงิน
  • คณะกรรมการและผู้บริหาร มีการรายงานการถือหลักทรัพย์และการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์เป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  • กรรมการ และผู้บริหาร 4 รายแรกนับจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียของตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อประธานกรรมการบริษัท และประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และเปิดเผยข้อมูลให้กรรมการทุกท่านทราบ ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551 และคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีนโยบาย ให้พนักงานระดับบริหาร ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ต้องจัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียของตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ โดยรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบ รับทราบทุกปี
  • คณะกรรมการได้จัดให้มีการดำรงรักษาไว้ซึ่งระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิผล เพื่อให้มั่นใจได้อย่างมีเหตุผลว่าการบันทึกข้อมูลทางการบัญชีมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สิน และเพื่อให้ทราบจุดอ่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือการดำเนินการที่ผิดปกติอย่างมีสาระสำคัญ รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบรายงานทางการเงิน รายการระหว่างกัน และระบบควบคุมภายใน โดยคณะกรรมการตรวจสอบจะรายงานตรงต่อคณะกรรมการบริษัทฯ
  • บริษัทฯ ได้กำหนดให้มีหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อทำหน้าที่สื่อสารกับบุคคลภายนอก ได้แก่ ผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนทั่วไป นักวิเคราะห์ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องดังนี้
    1. เปิดเผยสารสนเทศที่สำคัญให้ประชาชนทราบ
    2. เผยแพร่สารสนเทศต่อประชาชนอย่างทั่วถึง
    3. ชี้แจงกรณีที่มีข่าวลือหรือข่าวสารต่างๆ
    4. การเปิดเผยในเชิงส่งเสริมที่ไม่มีเหตุอันควร
    5. การซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน โดยใช้ข้อมูลภายใน ได้อย่างถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เท่าเทียม โปร่งใสและเป็นธรรม
    6. การดำเนินการเมื่อมีการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

    โดยจัดให้มีช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อ ดังนี้

    โทรศัพท์ : (66)2379 3089 ต่อ 241
    โทรสาร : (66)2379 3099
    Email: ir@qtc-energy.com
    Website: http://investor.qtc-energy.com

    นอกจากนี้ บริษัทฯ กำหนดให้บุคคลผู้มีอำนาจในการให้ข้อมูลดังกล่าว ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ กรรมการผู้จัดการ

  • บริษัทฯ ได้กำหนดให้บุคคลที่มีอำนาจในการประสานงานการเปิดเผยข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์ (Contact Person) ดังนี้
    1. การเปิดเผยสารสนเทศตามเหตุการณ์ ได้แก่ รายการได้มา/จำหน่ายไป ซึ่งสินทรัพย์ รายการเกี่ยวโยง กำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้น การเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้สอบบัญชี การย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น และโครงการลงทุน การจ่าย/งดจ่ายเงินปันผล เป็นต้น โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
    2. การเปิดเผยสารสนเทศตามรอบระยะเวลาบัญชี ได้แก่ งบการเงินประจำปีและงบการเงินรายไตรมาส แบบแสดงรายงาน 56-1 One Report โดยกรรมการผู้จัดการ
  • การให้ข่าวสารทั่วไปสำหรับการบริหารองค์กร กับสื่อสารมวลชนโดยกำหนดให้ประธานกรรมการบริหาร หรือ กรรมการผู้จัดการ มีหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรต่อสื่อสารมวลชน
  • กำหนดบุคคลผู้ประสานงาน (Contact Person) กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
    1. บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กำหนดให้ เลขานุการบริษัทฯ เป็นผู้ประสานงาน
    2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดให้ เลขานุการบริษัทฯ เป็นผู้ประสานงาน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการแสดงบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียและ ผู้ถือหุ้น เช่น การกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจทุกปี และทบทวนกลยุทธ์อีกครั้งทุกครึ่งปี ติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ดูแลให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความยั่งยืนให้กับบริษัท บริษัทฯ ยังคงดำเนินการในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

  1. คณะกรรมการของบริษัทฯ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในระดับตำแหน่งผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ จึงสามารถนำประสบการณ์ ความรู้ความสามารถมาพัฒนาและกำหนดนโยบายทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น โดยคณะกรรมการบริษัทฯ จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและภาพรวมขององค์กร ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตามผลการปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการและประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
  2. บริษัทฯ มีนโยบายในการแบ่งแยกตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ ให้เป็นคนละบุคคลกัน เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ จะเป็นผู้กำหนดอำนาจหน้าที่ และคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าว
  3. จำนวนบริษัทที่กรรมการแต่ละคนจะดำรงตำแหน่ง ให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และคณะกรรมการแต่ละคนจะต้องดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจดทะเบียนได้ไม่เกิน 3 แห่ง
  4. กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ สามารถดำรงตำแหน่ง กรรมการบริษัทอื่นได้ไม่เกิน 3 บริษัท โดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริษัทฯ ก่อน
  5. กรรมการอิสระแต่ละคนดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระต่อเนื่องได้ไม่เกิน 9 ปี เว้นแต่มีเหตุผล ความจำเป็น
  6. คณะกรรมการมีการแต่งตั้งกรรมการคนใหม่เพื่อต่อจากวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการคนก่อนหน้าโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท
  7. คณะกรรมการได้เปิดเผยข้อมูลการดำรงตำแหน่งในบริษัทอื่น ให้แก่ผู้ถือหุ้นทราบในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1 One Report)
  8. บริษัทฯ มีนโยบายให้กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร มีโอกาสประชุมระหว่างกันเอง เพื่ออภิปรายปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่ในความสนใจ โดยไม่มีฝ่ายจัดการร่วมด้วย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สำหรับปี 2565 ได้จัดให้มีการประชุม 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565
  9. คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีส่วนร่วมกับฝ่ายบริหาร ในการกำหนด วิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ เป้าหมาย แผนธุรกิจ และงบประมาณของบริษัท ทั้งนี้บริษัทกำหนดให้มีการทบทวนวิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ เป้าหมาย แผนธุรกิจและงบประมาณ เป็นประจำทุกปี
  10. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ บริษัทฯ กำหนดให้กรรมการบริษัทฯ ปฏิบัติตามข้อพึง ปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน (Code of Best Practices) ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการต้องเข้าใจและทราบถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตน และต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัทฯ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ โดยมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้
    1. จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมสามัญประจำปี ภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ
    2. ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง
    3. จัดให้มีระบบการบัญชี การรายงานทางการเงินและการสอบบัญชีที่มีความน่าเชื่อถือได้ รวมทั้งดูแลให้มีระบบการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน และการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
    4. จัดให้มีการทำงบดุลและงบกำไรขาดทุนของบริษัทฯ ณ วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ ซึ่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้ว และนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาและอนุมัติ
    5. กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของบริษัท (Direct) และกำกับควบคุมดูแล (Monitoring and Supervision) ให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อเพิ่มพูนมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดให้แก่กิจการและความมั่งคั่งสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น (Maximize Economic Value and Shareholders’ Wealth) นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีขอบเขตหน้าที่ในการกำกับดูแลให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน และการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่สำคัญหรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ
    6. พิจารณาทบทวน ตรวจสอบ และอนุมัติแผนการขยายธุรกิจโครงการลงทุนขนาดใหญ่ตลอดจนการเข้าร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร
    7. ติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานและงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
    8. พิจารณากำหนดโครงสร้างการบริหารงาน มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการอื่นตามความเหมาะสม เช่น คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน เป็นต้น รวมถึงการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่แต่งตั้งทั้งนี้ การมอบอำนาจตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กำหนดนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการมอบอำนาจที่ทำให้ คณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ดังกล่าวสามารถพิจารณาและอนุมัติรายการที่อาจมีความขัดแย้งมีส่วนได้เสียหรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อื่นใดทำกับบริษัทหรือบริษัทย่อย (ถ้ามี) ยกเว้นเป็นการอนุมัติรายการที่เป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพิจารณาและอนุมัติไว้แล้ว
    9. คณะกรรมการอาจมอบอำนาจให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือบุคคลอื่นใดปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนคณะกรรมการได้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการ หรืออาจมอบอำนาจเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรและภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเห็นสมควร ซึ่งคณะกรรมการอาจยกเลิก เพิกถอน เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขการมอบอำนาจนั้น ๆ ได้เมื่อเห็นสมควร ทั้งนี้ การมอบอำนาจนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการมอบอำนาจที่ทำให้บุคคลดังกล่าวสามารถพิจารณาและอนุมัติรายการที่ตนหรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง มีส่วนได้เสีย หรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดที่จะทำขึ้นกับบริษัท หรือบริษัทย่อย (ถ้ามี) เว้นแต่เป็นการอนุมัติรายการธุรกิจปกติและเป็นไปตามเงื่อนไขการค้าโดยทั่วไป หรือเป็นตามนโยบายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพิจารณาและอนุมัติไว้แล้ว โดยอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตามที่กำหนดเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกัน และรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่สำคัญของบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และ/หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ/หรือประกาศ อื่นใดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    10. คณะกรรมการได้จัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ เป็นลายลักษณ์อักษรมีการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย และทบทวนนโยบาย ดังกล่าวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งและส่งเสริมให้จัดทำจรรยาบรรณธุรกิจที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้กรรมการผู้บริหารและพนักงานทุกคนเข้าใจถึงมาตรฐานด้านจริยธรรมที่ บริษัทใช้ในการดำเนินธุรกิจและติดตามให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณดังกล่าวอย่างจริงจังรวมถึงการกำหนดนโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Policy) การประเมินประสิทธิผลของการจัดการความเสี่ยงทุกไตรมาส ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ติดตามดูแลให้มีการนำกลยุทธ์ของบริษัทไปปฏิบัติ

5.1 การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร

  1. คณะกรรมการบริษัทฯ มีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มีการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึง กรรมการ กรรมการตรวจสอบ ผู้บริหาร และเลขานุการบริษัทฯ เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors Association : IOD)
  2. บริษัทฯ จัดทำเอกสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการใหม่ และมีคู่มือศึกษาลักษณะธุรกิจและแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้แก่กรรมการใหม่
  3. บริษัทฯ มีแผนการคัดเลือกบุคลากรที่จะเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งงานบริหารที่สำคัญทุกระดับให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และโปร่งใส เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทได้ผู้บริหารที่มีความเป็นมืออาชีพและบริหารได้โดยเป็นอิสระจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือรายอื่นใด โดยมีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้พิจารณาและมีการทบทวนแผนดังกล่าวเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ผู้บริหารที่ได้รับการกำหนดให้เป็นบุคคลที่จะสืบทอดตำแหน่งนั้น จะได้รับการพัฒนาตามแผนการพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลื่อนตำแหน่งต่อไปในอนาคต
  • การปฐมนิเทศกรรมการใหม่
    คณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ทุกคน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในธุรกิจ รวมถึงการดำเนินงานด้านต่างๆ ของบริษัทฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ มีนโยบายที่จะเสริมสร้างความรู้มุมมองใหม่ ๆ ให้กับกรรมการทุกคน ในการเรียนรู้การกำกับดูแลกิจการ ภาวะอุตสาหกรรม ธุรกิจเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้กรรมการสามารถเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ได้เร็วที่สุดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเลขานุการบริษัทเป็นผู้ประสานงาน ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
    1. เรื่องที่ควรทราบ : โครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างกรรมการ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ กฎหมายที่ต้องทราบ
    2. ความรู้ทั่วไปของธุรกิจ : แนวทางการดำเนินงาน นโยบายต่างๆ และเยี่ยมชมกระบวนการผลิต
    3. จัดให้มีการพบปะ หารือกับกรรมการทั้งคณะ เพื่อสอบถามข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ
    สำหรับปี 2565 ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นมิได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ บริษัทฯ จึงมิได้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่
  • การพัฒนาความรู้
    คณะกรรมการบริษัทฯ มีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มีการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึง กรรมการ ,กรรมการตรวจสอบ, กรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทนและบรรษัทภิบาล กรรมการบริหารความเสี่ยง และเลขานุการบริษัท เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors Association : IOD) นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้คณะกรรมการมีความรู้เกี่ยวข้องกับการบริหารงานด้วย จากสถาบันต่างๆ ซึ่งปี 2565 กรรมการบริษัทที่ได้เข้าร่วมการอบรมและสัมมนามีดังนี้
    ชื่อ-นามสกุล หลักสูตร สถาบัน
    1. นางวสรา โชติธรรมรัตน์ 1. Ethical Leadership Program (ELP) IOD
    2. นายเรืองชัย กฤษณเกรียงไกร 1. Hot Issue for Directors
    2. Risk Management Program for Corporate Leaders (RCL)
    IOD
    IOD

    นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดทบทวนเอกสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการใหม่ และมีคู่มือศึกษาลักษณะธุรกิจและแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้แก่กรรมการใหม่ และได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทนและบรรษัทภิบาล ติดตามการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งของกรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการ และผู้บริหาร ทั้งนี้ ผู้บริหารที่ได้รับการกำหนดให้เป็นบุคคลที่จะสืบทอดตำแหน่งนั้น จะได้รับการพัฒนาตามแผนการพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลื่อนตำแหน่งต่อไปในอนาคต

5.2 การจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน

เพื่อมั่นใจว่าบริษัทฯ มีผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการบริษัทฯ จึงกำหนดให้มีแผนพัฒนาศักยภาพผู้บริหารระดับสูง โดยมอบหมายให้คณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาล จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน สำหรับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการ, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการฝ่าย พิจารณากำหนดความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ของแต่ละตำแหน่งงาน เพื่อคัดเลือกผู้บริหารที่มีคุณสมบัติสอดคล้องตามที่กำหนด สามารถสืบทอดงานของแต่ละตำแหน่งงานได้ และมอบหมายให้แผนกทรัพยากรบุคคล ทำหน้าที่ดูแลติดตามการอบรมและพัฒนาความรู้ ความสามารถของผู้สืบทอดตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ, รองกรรมการผู้จัดการ, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้จัดการฝ่าย

5.3 การรายงานการมีส่วนได้เสีย

บริษัทฯ ได้กำหนดให้กรรมการ กรรมการบริหารและผู้บริหาร รายงานการมีส่วนได้เสียของตนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เมื่อเริ่มดำรงตำแหน่ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่างๆ และทบทวนข้อมูลต่างๆ เป็นประจำทุกปี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการรายงานส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการบริษัท โดยปี 2565 บริษัทฯ กำหนดให้กรรมการบริษัท, กรรมการบริหาร และผู้บริหารจัดส่งรายงานการมีส่วนได้เสียให้แก่เลขานุการบริษัทเพื่อรวบรวมและทำสรุปรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท โดยนำเรื่องเข้าเสนอคณะกรรมการบริษัทเมื่อการประชุมครั้งที่ 7/2565 วันที่ 15 ธันวาคม 2565